สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในดินแดนไทย

ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 

สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในดินแดนไทย

 

1. ปัจจัยที่ผลต่อการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในดินแดนไทย
     1.1 ปัจจัยทางกายภาพ
1. ทำเลที่ตั้ง อยู่กึ่งกลางระหว่างอารยธรรมจีนและอินเดีย และตั้งอยู่ในเส้นทางการค้าระหว่างตะวันออกกับตะวันตก
2. ลักษณะภูมิประเทศ
ภาคเหนือ เป็นทิวเขาสลับที่ราบหุบเขา
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นที่ราบสูง
ภาคกลาง เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ
ภาคตะวันตก เป็นทิวเขาสลับที่ราบหุบเขา
ภาคตะวันออก เป็นทิวเขาและที่ราบชายฝั่งทะเล
ภาคใต้ เป็นทิวเขามีที่ราบชายฝั่งทะเลทั้งสองด้านของคาบสมุทร

 

แผนที่แสดงลักษณะภูมิประเทศของไทย

 

3. ภูมิอากาศ อยู่ในเขตของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้มีฝนตก และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือทำให้อากาศหนาว
4. ทรัพยากรธรรมชาติ ประเทศไทยเต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ แหล่งน้ำ และมีแร่ธาตุ ได้แก่ ทองแดง ดีบุก เหล็ก
     1.2 ปัจจัยทางสังคม
ตั้งแต่เริ่มมีการตั้งถิ่นฐานถาวรในยุคหินใหม่ โครงสร้างทางสังคมก็มีความซับซ้อนขึ้น มีหัวหน้าปกครอง มีกฎเกณฑ์ต่าง ๆ มีการแบ่งงานกันทำ มีการค้าขายแลกเปลี่ยน มีการแบ่งชนชั้น มีการผสมผสานทางวัฒนธรรม

 

2. การศึกษาเรื่องราวสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย

สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในดินแดนไทย

 

3. ยุคหินในดินแดนไทย
     3.1 ยุคหินเก่า 500,000–10,000 ปีมาแล้ว
หลักฐานเก่าแก่ที่มีการค้นพบ ได้แก่ เครื่องมือหินกะเทาะ เป็นเครื่องมือของมนุษย์โบราณพวก โฮโมอีเรกตัส (Homo erectus)
มนุษย์ในยุคนี้ดำรงชีวิตด้วยการล่าสัตว์ รู้จักใช้ไฟ ไม่มีถิ่นฐานที่แน่นอน พบหลักฐานว่าอาศัยตามถ้ำ

 

เครื่องมือหินกะเทาะยุคหินเก่า โฮโมอีเรกตัสกับมนุษย์ปัจจุบัน

 

     3.2 ยุคหินกลาง 10,000–6,000 ปีมาแล้ว
พบเครื่องมือหินกะเทาะ แบบฮัวบิเนียน (Hoabinhian) พบครั้งแรกที่ จังหวัดฮัวบินห์ ประเทศเวียดนาม
ยุคหินกลางเป็นช่วงสิ้นสุดสมัยน้ำแข็ง ทำให้ระดับน้ำทะเลค่อย ๆ สูงขึ้นเกิดหมู่เกาะต่าง ๆ มนุษย์ในยุคนี้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในถ้ำ เพิงผา ดำรงชีวิตด้วยการล่าสัตว์ มีพิธีฝังศพ แสดงถึงความเชื่อหลังการตาย

 

เครื่องมือแบบฮัวบิเนียน ยุคหินกลาง

 

     3.3 ยุคหินใหม่ 6,000–4,000 ปีมาแล้ว
เครื่องมือเครื่องใช้ที่พบ คือ เครื่องมือหินขัด ที่สำคัญคือ ขวานหินขัด ชาวบ้านบางแห่งเรียก ขวานฟ้า
ยังมีค้นพบเครื่องมือเครื่องใช้อื่น ๆ เช่น เครื่องปั้นดินเผา ภาชนะ เช่น หม้อ ไห
ยุคหินใหม่เป็นยุคเกษตรกรรม พืชที่สำคัญ คือ ข้าว มีการเลี้ยงสัตว์ เช่น สุนัข หมู วัว ควาย
หลักฐานที่สำคัญ อีกอย่าง คือ หลุมฝังศพ ภายในหลุมมี อาหาร ภาชนะดินเผา ขวานหินขัด บางครั้งพบพิธีกรรมที่ทำกับศพ เช่น มัดศพ กรอฟันศพ
สังคมในยุคหินใหม่อาศัยใกล้แหล่งน้ำอยู่รวมเป็นหมู่บ้าน พึ่งพาเกษตรกรรม สังคมมีความซับซ้อนขึ้น จึงมีความแตกต่างทางฐานะในสังคม และมีการติดต่อระหว่างชุมชน

 

ขวานหินขัด ยุคหินใหม่ เครื่องใช้ยุคหินใหม่

หลุมฝังศพมนุษย์ยุคหินใหม่

 

4. ยุคโลหะในดินแดนไทย
     4.1 ยุคสำริด 4,000–2,500 ปีมาแล้ว
มนุษย์รู้จักการนำสำริดมาทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องใช้สำริดที่สำคัญ คือ กลองมโหระทึก ซึ่งใช้ในพิธีกรรม
มนุษย์ยุคสำริดยังคงดำเนินชีวิตด้วยการเกษตร มีการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ มีการตั้งถิ่นฐานและพิธีศพเหมือนยุคหินใหม่

 

กลองมโหระทึกสำริด สมัยสำริด

 

     4.2 ยุคเหล็ก 2,500–1,500 ปีมาแล้ว
หลักฐานยุคเหล็กมักพบในแหล่งเดียวกับยุคสำริดยังคงใช้สำริดทำเครื่องมือเครื่องประดับ ยังดำรงชีวิตด้วยการเกษตร สังคมมีขนาดใหญ่ขึ้นมาก มีการพัฒนาเป็นชุมชนเมืองที่มีคูน้ำและคันดินเป็นกำแพงในสมัยต่อมา

 

เครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องประดับยุคเหล็ก

 

5. ตัวอย่างแหล่งโบราณคดีในประเทศไทย
     5.1 แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี
พบโครงกระดูก ภาชนะดินเผายุคหินใหม่เป็นจำนวนมาก และหม้อสามขา ซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของยุคหินใหม่

 

แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า จ.กาญจนบุรี หม้อสามขาดินเผา ยุคหินใหม่

 

     5.2 แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี
เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในยุคโลหะ พบเครื่องปั้นดินเผาเป็นภาชนะลายเขียนสีแดงบนพื้นสีขาวนวล และยูเนสโกประกาศให้บ้านเชียงเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม
จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบ แสดงว่าอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้าน ดำรงชีวิตด้วยการเกษตร เครื่องมือระยะแรกเป็นขวานหินขัด ต่อมาเริ่มมีการทำเครื่องมือเครื่องประดับจากสำริด และในที่สุดพัฒนาเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากเหล็ก

 

ภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ ภาชนะดินเผา ภาชนะดินเผาลายเขียนสี

 

6. ศิลปะถ้ำสมัยก่อนประวัติศาสตร์
ภาพที่คนก่อนประวัติศาสตร์ทำไว้ตามผนังถ้ำและเพิงผา โดยลงสีเป็นภาพคน ภาพมือ ภาพสัตว์ และภาพเรขาคณิต บางครั้งเป็นภาพพิธีกรรม สีที่ใช่ส่วนใหญ่เป็นสีแดง รองลงมาสีขาวและสีดำ ไม่พบสีอื่น ภาพเหล่านี้ไม่สามารถกำหนดอายุได้ แต่อาจใช้หลักฐานอื่น ๆ ที่พบในถ้ำบอกยุคสมัยและเปรียบเทียบอายุของภาพได้

 

ภาพเขียนสีรูปวัวที่ภูปลาร้า จ.อุทัยธานี ภาพเขียนสีรูปขบวนแห่ ถ้ำตาด้วง จ.กาญจนบุรี

 

คำสำคัญ
โฮโมอีเรกตัส
เครื่องมือหินกะเทาะ
เครื่องมือหินขัด
ฮัวบิเนียน

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *