พระราชพิธีพัชราภิเษก (Diamond Jubilee)

พระราชพิธีพัชราภิเษก หรือ พัชราภิเษกสมโภช (Diamond Jubilee) เป็นการเฉลิมฉลองเพื่อแสดงการครบรอบ 60 ปี ซึ่งเกี่ยวกับบุคคล (เช่น การครบรอบการแต่งงาน ระยะเวลาการครองราชสมบัติของพระมหากษัตริย์) หรือครบรอบ 75 ปี ซึ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้นๆ

 

เหตุการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับพระราชพิธีพัชราภิเษก

ประเทศไทย

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2549 พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานตามที่รัฐบาลขอพระราชทาน มีชื่องานว่า “ พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ” แต่ไม่ใช่ “ พัชราภิเษก ” ดังที่บางคนเรียก เพราะยังไม่ครบ 75 ปี และไม่เรียกว่า “ ครบรอบ 60 ปี ” เพราะธรรมเนียมไทยไม่ถือว่า 60 ปี เป็นรอบ ด้วยไทยถือรอบนักษัตร รอบละ 12 ปี การฉลองครบ 60 ปี จึงเป็นการอนุโลมตามธรรมเนียมสากลโดยถือว่าเป็นวาระที่มีมาถึงก่อนครบ 75 ปี ซึ่งยังอยู่อีกไกล แต่อันที่จริง หากอนุโลมแบบไทยว่าครบห้ารอบนักษัตรก็จะได้เวลา 60 ปี เช่นกัน เพียงแต่ถ้าใช้คำว่า “ ครบรอบ ” ก็ควรระบุว่า “ ครบห้ารอบ ” ไม่ใช่ครบรอบ 60 ปี

สำหรับพระราชพิธีพัชราภิเษกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นการฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 75 ปี จะเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2564

 

เครือจักรภพ/จักรวรรดิอังกฤษ

ในประเทศอังกฤษและดินแดนในเครือจักรภพอื่นๆ เช่น แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์นั้น พระราชพิธีพัชราภิเษกจะจัดขึ้นโอกาสการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีขององค์พระประมุข ก่อนหน้าที่เครือจักรภพอังกฤษยังเป็นจักรวรรดิอังกฤษอันยิ่งใหญ่ ได้มีการจัดพระราชพิธีพัชราภิเษกมาแล้วครั้งหนึ่งในรัชสมัยสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2440

ก่อนหน้านี้ในวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2439 สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงดำรงพระชนมายุแซงหน้าสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 พระอัยกา ในฐานะที่ทรงเป็นองค์พระประมุขที่ทรงครองราชสมบัติยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษ สก็อตแลนด์ และสหราชอาณาจักร พระองค์ทรงมีพระประสงค์ให้เลื่อนการเฉลิมฉลองของสาธารณชนแบบพิเศษต่างๆ ออกไปถึงปี พ.ศ. 2440 พร้อมพระราชพิธีพัชราภิเษกของพระองค์ นายโจเซฟ แชมเบอร์เลนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาณานิคมได้เสนอให้จัดพระราชพิธีพัชราภิเษกเป็นการเฉลิมฉลองทั่วจักรวรรดิอังกฤษ

พระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียในงานพระราชพิธีพัชราภิเษกเมื่อปี พ.ศ. 2440

 

ดังนั้นนายกรัฐมนตรีของอาณานิคมที่ปกครองตนเองต่างๆ พร้อมกับครอบครัวได้รับเชิญให้มาร่วมในงานฉลอง ในขบวนเสด็จที่สมเด็จพระราชินีนาถทรงเข้าร่วม ประกอบด้วยกองทหารจากอาณานิคมและดินแดนในปกครองอังกฤษแต่ละแห่ง พร้อมกับทารที่ส่งมาจากเจ้าครองรัฐหรือหัวหน้าดินแดนของอินเดีย (ซึ่งขึ้นกับสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย จักรพรรดินีแห่งอินเดีย) การเฉลิมฉลองพระราชพิธีพัชราภิเษกก็ได้เป็นโอกาสที่แสดงถึงความรักอันท่วมท้นอย่างมากต่อสมเด็จพระราชินีนาถในวัย 70 พรรษาเศษ ซึ่งในขณะนั้นได้ประทับอยู่บนรถเข็น การเฉลิมฉลองต่างๆ เกิดขึ้นพร้อมกับการอารักขาอย่างเข้มแข็งมาก ซึ่งก็มาจากแผนการลอบปลงพระชนม์จากพวกชาตินิยมไอริชในครั้งพระราชพิธีกาญจนาภิเษกเมื่อ 10 ปีก่อน

ตลอดทั่วทั้งจักรวรรดิอังกฤษทั้งหมด การเฉลิมฉลองก็ยังดำเนินไปแม้ว่าจะไม่มีองค์พระประมุขมาปรากฏพระองค์จริงให้เห็น พร้อมกับขบวนพาเหรดและงานเลี้ยงฉลองต่างๆ ที่จัดขึ้นตามเมืองใหญ่ต่างๆ ในประเทศออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ แอฟริกาใต้ และดินแดนในปกครองต่างๆ ของประเทศอังกฤษ ในประเทศแคนาดา ถนนหนทางประดับประดาอย่างสวยงามและเซอร์ วิลเฟรด ลอริเยร์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้เดินทางไปหลายๆ แห่งของประเทศเพื่อร่วมงานเฉลิมฉลอง นอกจากนี้ ยังได้มีการออกแสตมป์งานพระราชพิธีพัชราภิเษก ที่มีพระบรมสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียสององค์อยู่ด้านหน้าเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2440

จากหนังสือพระนิพนธ์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต เรื่อง พระราชินีนาถวิกตอเรีย ได้กล่าวไว้ว่า ในปีเดียวกับที่พระราชินีนาถวิกตอเรียทรงต้อนรับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวของเรานั้นเอง เป็นปีพระราชินีนาถทรงครองราชสมบัติครบ 60 ปี จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีงานฉลองใหญ่ พระราชทานนามพระราชพิธีว่า "Diamond Jubilee" หรือ "พัชราภิเษก"

พระราชินีรู้สึกพระองค์ว่าทรงพระชรามากแล้ว พระชันษาถึง 78 ปี จึงมิได้โปรดให้จัดงานมโหฬารเท่ากับพระราชพิธีฉลองเมื่อครองราชย์ครบ 50 ปี หรือที่เรียกว่า "กาญจนาภิเษก" ใน ค.ศ. 1887 ครั้งนี้พระราชินีไม่ได้เชิญเสด็จพระเจ้าแผ่นดินองค์ใดมาในงานเลย แม้แต่ไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 2 แห่งเยอรมัน ผู้ทรงเป็นพระราชนัดดาพระองค์ใหญ่ก็มิได้เสด็จ

ในกระบวนแห่พยุหยาตราครั้งนี้ พระราชินีเสด็จไปในรถพระที่นั่งทองสำหรับพระราชพิธี เทียมด้วยม้าสีขาว 8 ม้า ปรินเซสออฟเวลส์ พระราชสุณิสาประทับตรงกันข้าม เอมเปรสเฟรเดอริก คือ ปรินเซสรอยัล พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ประทับรถคันที่ 2 ในกระบวน เทียมด้วยม้าสีดำขลับ 4 ม้า แล้วก็มีรถเจ้านายฝ่ายในพระองค์อื่นตามเสด็จอีกเป็นกระบวนยาว พระราชโอรส พระราชนัดดา และพระญาติวงศ์ฝ่ายหน้า ทรงม้าตามเสด็จไปในกระบวนทั้งสิ้น

เมื่อกระบวนแห่ไปถึงวัดเซ็นต์พอล พระราชินีก็เสด็จลงจากรถพระที่นั่งเสด็จเข้าไปในโบสถ์เพื่อให้อาชบิชอปออฟแคนเทอเบอรีกระทำพิธีทางศาสนาถวายโดยย่อ ทั้งนี้ก็เพราะไม่ทรงสามารถจะประทับอยู่นานดังแต่ก่อนได้

 

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

(ซึ่งเป็นพระประมุขแห่งดินแดนรัฐอิสระในเครือจักรภพจำนวนมาก เช่น อังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จาเมกา และประเทศและดินแดนโพ้นทะเลอื่นๆ) จะทรงมีกำหนดการฉลองพระราชพิธีพัชราภิเษกในระหว่างวันที่ 2 - 5 มิถุนายน พ.ศ. 2555 เมื่อทรงมีพระชนมพรรษาครบ 86 พรรษา รัฐบาลในสมเด็จพระราชินีนาถแห่งอังกฤษได้ประกาศให้มีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่และกำหนดวันหยุดธนาคารเพิ่มเติม อีกทั้งจะมีการล่องเรือจำนวนมากกว่า 1,000 ลำ ไปตามแม่น้ำเทมส์ และมีการประดับไฟเฉลิมฉลองทั่วทั้งประเทศด้วย นอกจากนี้สมาชิกพระราชวงศ์อังกฤษจะเสด็จเยือนประเทศต่างๆ ในเครือจักรภพทั่วโลกในปี 2555

 

ประเทศญี่ปุ่น

ในประเทศญี่ปุ่น พระราชพิธีพัชราภิเษกหมายถึงการครองราชสมบัติครบ 60 ปี ซึ่งเรียกว่า "Go-Zai-i rokujūnen kinen (御在位60年記念?)" แปลว่า "การรำลึกถึงการครองราชสมบัติเป็นปีที่ 60" โดยสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ (29 เมษายน พ.ศ. 2444 - 7 มกราคม พ.ศ. 2532) ทรงเฉลิมฉลองพระราชพิธีพัชราภิเษกเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2529

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *